วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

บทความทางวิชาการ เรื่อง ภาวะผู้นำแบบดุลยภาพ – ภาวะผู้นำสำหรับศตวรรษที่ 21 Scholarly Article: Equilibrium Leadership – Leadership for 21st Century ดุษฎีรัตน์ โกสุมภ์ศิริ

บทความทางวิชาการ เรื่อง ภาวะผู้นำแบบดุลยภาพ ภาวะผู้นำสำหรับศตวรรษที่ 21
Scholarly Article: Equilibrium Leadership – Leadership for 21st Century
ดุษฎีรัตน์ โกสุมภ์ศิริ
บทคัดย่อ
“ผู้นำ” เป็นบุคคลที่สำคัญในองค์การ   มีบทบาทที่ต้องดำเนินไป ภายใต้เงื่อนไขปัจจัยของสภาวะโดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกในทุกวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความรู้ในเรื่อง “ภาวะผู้นำ” นั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกองค์การ ในกระแสโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ความเจริญทางเทคโนโลยี ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสังคมจากอดีต สู่ ปัจจุบันอย่างรวดเร็วมาก เราจึงต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้ทันกับเหตุการณ์ของโลกปัจจุบันตลอดเวลา ผู้นำ (Leader) และ “ภาวะผู้นำ (Leadership)” จึงเป็นปัจจัยคู่สำคัญที่ควรมีการพัฒนาบนพื้นฐานของ ทางสายกลาง และ การรักษาสมดุล ขององค์ประกอบต่างๆ และ การจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับการดำเนินชีวิต ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และในระดับผู้นำ ดังนั้น “ภาวะผู้นำแบบดุลยภาพ” จึงเป็นภาวะผู้นำแนวใหม่ที่ได้ถูกสังเคราะห์ขึ้นจาก ทฤษฎีภาวะผู้นำพื้นฐาน 5 รูปแบบ เพื่อให้มีคุณลักษณะอันสอดคล้องกับยุคโลกาภิวัฒน์ และโลกในศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญในสองส่วนหลักๆ คือ ทักษะของการจัดลำดับความสำคัญ และการรักษาดุลยภาพ ของปัจจัยต่างๆ ในขณะนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
คำสำคัญ: ผู้นำ ภาวะผู้นำแบบแบบผนึกกำลัง ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม ภาวะผู้นำดิจิตอล ภาวะผู้นำยอดเยี่ยม  ภาวะผู้นำแบบสุนทรียสนทนา ภาวะผู้นำแบบดุลยภาพ
บทนำ  
                เมื่อพูดถึงคำว่า “ผู้นำ” เรามักจะเห็นภาพของ คนหนึ่งคน หรือ กลุ่มคนไม่กี่คนจำนวนหนึ่งที่กำลังกำหนดหนทาง หรือ วิถีการดำเนินชีวิตหรือกิจกรรม ในกับกลุ่มคนจำนวนมาก ขับเคลื่อนความเป็นไปของกลุ่มให้เคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่บ่อยครั้งเรามักจะได้ยินว่า  ความสำเร็จ หรือ ความล่มสลาย ของกลุ่มองค์การนั้นๆ ขึ้นอยู่กับผู้นำ
                ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจความเป็นผู้นำที่ถูกต้อง ผู้เขียนจึงเห็นว่า เราควรทำความเข้าใจกับคำว่า “ผู้นำ” และ “ภาวะผู้นำ” ให้ชัดเจนก่อนดังนี้
 (Wikipedia, last updated on 10 August 2015สืบค้นเมื่อ 3 สค. 2558) ให้ความหมายไว้ว่า “ผู้นำ” หมายถึง   บุคคลที่มีอำนาจหรือได้รับการเห็นชอบหรือได้รับอนุญาตจากสมาชิกในกลุ่ม ในการสั่งการหรือบอกกล่าวบุคคลอื่นๆให้ทำการใดๆ หรือ พูดแบบง่ายๆได้ว่า “ผู้นำ” คือบุคคลที่มีผู้ตาม “ผู้นำ” คือ ผู้ที่สามารถนำทิศนำทางผู้อื่นให้ก้าวไปข้างหน้า สู่จุดมุ่งหมายตามที่ตั้งใจไว้ได้  โดยใช้ศักยภาพของความเป็นผู้นำที่มีอยู่ทั้งในด้านสถานภาพ  ความสามารถ  อิทธิพลชีวิต  และพฤติกรรม  เพื่อส่งผลให้สามารถกำหนดทิศทางของบุคคลผู้ติดตามให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน หน้าที่หนึ่งของผู้นำคือ การกำกับดูแล พฤติกรรมและการกระทำของผู้ตามในกลุ่ม นอกจากนี้ ผู้นำ ยังเป็นผู้ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มด้วย
กวี วงศ์พุฒ(2535 : 14-15) ได้สรุปแนวคิดเกี่ยวกับ “ผู้นำ” ไว้ 5 ประการ คือ
1.             ผู้นำหมายถึง ผู้ซึ่งเป็นศูนย์กลางหรือจุดรวมของกิจกรรมภายในกลุ่ม เปรียบเสมือนแกนของกลุ่ม เป็นผู้มีโอกาสติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นมากกว่าทุกคนในกลุ่ม มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกลุ่มสูง
2.             ผู้นำหมายถึง บุคคลซึ่งนำกลุ่มหรือพากลุ่มไปสู่วัตถุประสงค์หรือจุดหมายที่วางไว้ แม้แต่เพียงชี้แนะให้กลุ่มไปสู่จุดหมายปลายทางก็ถือว่าเป็นผู้นำ ทั้งนี้รวมถึงผู้นำที่นำกลุ่มออกนอกลู่นอกทางด้วย
3.             ผู้นำหมายถึง บุคคลที่สมาชิกส่วนใหญ่คัดเลือกหรือยกให้เขาเป็นผู้นำของกลุ่ม ซึ่งเป็นไปโดยอาศัยลักษณะทางสังคม มิติของบุคคลเป็นฐาน และสามารถแสดงพฤติกรรมของผู้นำได้
4.             ผู้นำหมายถึง บุคคลซื่งมีคุณสมบัติเฉพาะอย่าง คือสามารถสอดแทรกอิทธิพลบางประการอันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มได้มากที่สุด
5.             ผู้นำหมายถึง บุคคลซึ่งสามารถนำกลุ่มไปในทางที่ต้องการ เป็นบุคคลที่มีส่วนร่วม และเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการแสดงบทบาท หรือพฤติกรรมการเป็นผู้นำ
                (พระครูปลัดธรรมจริยวัฒน์, ดร, 2558) ได้อธิบายว่า “ภาวะผู้นำ” มีนิยามที่มีพื้นฐานความคิดอยู่ 2 ประการ คือ 1) พื้นฐานความคิดเพื่อบรรลุความสำเร็จด้วยคนอื่น หมายถึง ภาวการณ์ให้ความไว้วางใจคนอื่นว่า มีความปรารถนาและความสามารถที่จะประสานสัมพันธ์กันทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ การเชิญชวนหรือด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งเป็นจุดเน้นขององค์กรยุคใหม่หรือโลกยุคใหม่ 2) มีพื้นฐานความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงและเพื่ออนาคตที่ดีกว่า หมายถึง ภาวการณ์ท้าทายต่อสภาพการณ์ในปัจจุบันและมุ่งหน้าเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่โลกใหม่ที่ดีกว่า
                จากแนวความคิดข้างต้นนั้น บ่งชี้ให้เห็นว่าทุกคนในกลุ่มสามารถที่จะเป็นผู้นำได้ แม้ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตำแหน่งขอเพียงมีความคิดและมีการดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนแปลง ถือว่าผู้นั้นมี ภาวะผู้นำ
“ผู้นำ” จึงเป็นบุคคลที่สำคัญในองค์การมีบทบาทที่ต้องดำเนินไป ภายใต้เงื่อนไขปัจจัยของสภาวะโดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกในทุกวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความรู้ในเรื่อง “ภาวะผู้นำ” นั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกองค์การ ในกระแสโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ความเจริญด้านวัตถุเข้ามาแทนที่ วิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมจากอดีต สู่ ปัจจุบัน เราจึงต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้ทันกับเหตุการณ์ของโลกปัจจุบันตลอดเวลา จากความเจริญที่รุดหน้าอย่างรวดเร็วของโลกยุคใหม่ที่มีความสลับซับซ้อน ผู้นำ (Leader) และ “ภาวะผู้นำ” จึงเป็นปัจจัยคู่สำคัญที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นจนอาจเกิดวิกฤตภาวะผู้นำขึ้นได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาในสังคมของทุกชนชั้น ทุกระดับ จนกระทั่ง นำไปสู่ปัญหาระดับประเทศในที่สุด (สมบัติ กุสุมาวลี, 2556) การพัฒนาภาวะผู้นำในปัจจุบัน ยังละเลยและมองข้าม เรื่องของการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนทางสายกลาง และ การรักษาสมดุล ขององค์ประกอบต่างๆ โดยคำนึงถึง จุดของความพอเหมาะ ในเรื่องของ จังหวะ เวลา และ การจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับการดำเนินชีวิต ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และในระดับผู้นำ เนื่องจาก หากผู้นำขาดทักษะของการจัดลำดับความสำคัญ และการรักษาดุลยภาพของปัจจัยต่างๆ ในขณะนั้นๆ สามารถนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด หรือเป็นการตัดสินใจที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่สัมฤทธิ ได้ ดังนั้น คุณลักษณะ และการพัฒนา ภาวะผู้นำ ที่ส่งเสริมการใช้ความรอบคอบประกอบการวางแผนอย่างระมัดระวังในเรื่องการจัดการความรู้  การปฎิบัติและการตัดสินใจ โดยตระหนักในคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต อดทน มีความเพียรในการใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง หากผู้นำบกพร่องในทักษะหรือคุณลักษณะของการจัดสรรและรักษาสมดุลของภาวะผู้นำเหล่านี้ สามารถทำให้เกิดผลกระทบและความล้มเหลวตามมา ตั้งแต่ในระดับชุมชน สังคม หน่วยงาน องค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน จนนำไปสู่ปัญหาระดับประเทศ ได้ 
ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากได้มีการนำเอาองค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มของสังคมโลกที่กำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนถ่าย เพื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ คือ ศตวรรษที่ 21  เข้ามาผนวกกับแนวคิดและทฤษฎีด้านภาวะผู้นำดังกล่าว เพื่อทำการสังเคราะห์ให้ได้ รูปแบบภาวะผู้นำแนวใหม่ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นผู้เขียนจึงทำการศึกษา ภาวะผู้นำเชิงบูรณาการในแบบต่างๆ  และเรียบเรียงบทความนี้ขึ้นโดยได้มาจากการสังเคราะห์หนังสือ ตำรา เอกสารทางวิชาการ นานาทัศนะและบทความจากวารสารต่างๆ ทั้งที่มีการเผยแพร่ในรูปของหนังสือ สิ่งพิมพ์และในรูปของสื่อทางอิเลคทรอนิคส์ที่เกี่ยวกับเรื่องของภาวะผู้นำในรูปแบบต่างๆ อันล้วนแต่เป็นข้อเขียนที่ได้ผ่านการสังเคราะห์ความคิดเชิงทฤษฎีในภาพรวมเกี่ยวกับภาวะผู้นำเชิงคุณลักษณะ เชิงพฤติกรรม และเชิงสถานการณ์ของผู้นำ มาก่อนแล้วเป็นอย่างดี เพื่อนำมาปรับใช้กับการพัฒนาภาวะผู้นำ เพื่อให้เกิดเป็นผู้นำต้นแบบที่สมบูรณ์ทั้งในเรื่องของการดำเนินชีวิตส่วนตัวและด้านหน้าที่การงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และตกผลึกมาเป็น แนวคิดของ รูปแบบภาวะผู้นำแบบดุลยภาพ (Equilibrium Leadership)  ดังรายละเอียดที่จะได้กล่าวในบทความนี้ต่อไป
การสังเคราะห์ภาวะผู้นำแนวใหม่จากทฤษฎีภาวะผู้นำพื้นฐาน และ จากนานาทัศนะภาวะผู้นำร่วมสมัยปัจจุบัน
                “No one can teach anybody in Leadership but we can help them to learn” คือข้อคิด ที่บอกว่า “ตำราใดๆ ก็ไม่สามารถที่จะ “สอน” ใครได้ในเรื่องภาวะผู้นำ แต่ ภาวะผู้นำ เป็นสิ่งที่พวกเราสามารถช่วยให้เขาเหล่านั้นเรียนรู้ได้”  ดูจะยังคงเป็นจริงเสมอ แม้ว่าในปัจจุบัน เราจะพบเห็นหลักสูตรที่ว่าด้วยวิชา “ภาวะผู้นำ” มีอยู่มากมายก็ตาม เหตุใด จึงมีคำกล่าวเช่นนี้?
                คุณโชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย ได้กล่าวไว้ใน “คำนิยม” ของหนังสือ “Smart Leadership: กลยุทธ์การนำระดับกูรู” เอาไว้ว่า เพียง “ศาสตร์” ในการบริหารจัดการสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์นั้น คงมิอาจนำพาองค์กรให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้ หากแต่การมี “ศิลปะในการครองใจคน” ต่างหาก ที่จะสามารถสร้างแต้มต่อให้กับองค์กรหรือธุรกิจ เพราะการ “ได้ใจคน” คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในทุกมิติ จึงมั่นใจว่า ผู้นำมืออาชีพทั้งหลายน่าจะใช้ “ศิลปะ” เป็นเครื่องมือในการบริหารคน มากกว่าที่จะใช้ “ศาสตร์” เพียงเท่านั้น (โชค บูลกุล, 2555)
อนึ่ง ผู้นำ (leader) ส่วนมากในปัจุจุบัน ที่จะเป็นผู้ที่ดีงามทั้งในด้านความประพฤติ การปฎิบัติตัวนั้น มีอยู่ให้พบเห็นได้น้อยมาก ส่วนมากมักพบผู้นำที่มาจากการแต่งตั้งขึ้น โดยอาศัยเครือญาติ เพื่อนฝูง คนสนิท หรือเป็นเรื่องบุญคุณที่ทดแทนกัน อันทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ทั้งๆที่ “ผู้นำ (Leader) ถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการองค์กรดังนั้น ในตัวผู้นำจึงต้องมีทั้ง “ศาสตร์”  และ “ศิลป์”  ที่มีอิทธิพลเหนือคนอื่น จึงจะสามารถนำพาผู้คนเหล่านั้นและได้รับความไว้วางใจและเชื่อใจอย่างเต็มที่ อีกทั้งต้องได้รับความเคารพนับถือ ร่วมมือและร่วมใจจากผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างจริงจัง ดังนั้น จึงเป็นจำเป็นอย่างยิ่งที่ “ผู้นำ” จะต้องมี “ภาวะผู้นำ (leadership) ที่เหมาะสมที่สามารถจะจูงใจหรือมีอิทธิพลต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อทำให้เกิดการปฏิบัติการ และ อำนวยการ โดยใช้กระบวนการสื่อสารความหมายหรือการติดต่อกันและกันเพื่อร่วมมือกันดำเนินงานให้สำเร็จลุลวงตามวัตถุประสงค์ สิ่งสำคัญต้องรู้จักเดินทางสายกลาง อย่างพอประมาณ มีเหตุผล มีความรู้มีคุณธรรมเป็นลักษณะนิสัย ดังที่ สุภัชชา พันเลิศพาณิชย์ กล่าวไว้ใน บทความทางวิชาการ เรื่อง การพัฒนาภาวะผู้นำตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ว่า ในปัจจุบัน ผู้นำส่วนมาก (leader) ไม่มี ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ซึ่ง ๓ ห่วง ประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และ การมีภูมิคุ้มกันตัวเอง ส่วน ๒ เงื่อนไข คือ ความรู้ คู่ คุณธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องทำควบคู่กันไปเสมอ จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมิได้ (สุภัชชา พันเลิศพาณิชย์, 2558)
จากทัศนะข้างต้น จึงทำให้เกิดการบูรณาการศิลปะการครองใจคน หรือ ศิลปะการจูงใจ เข้ามาสู่ศาสตร์ของภาวะผู้นำ ตลอดทั้งศิลปะการบริหารจัดการ การจัดลำดับความสำคัญ และการจัดสัดส่วนของคุณลักษณะ ทักษะด้านต่างๆ อย่างสมดุล ดังที่ทำให้เกิดภาวะผู้นำแบบใหม่ๆขึ้น ภายใต้กระบวนทัศน์ทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงบูรณาการในเวลาต่อมา ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้ได้รูปแบบของภาวะผู้นำที่เหมาะสมกับกาลสมัยและบริบทขององค์การ หรือ สังคมในขณะนั้น
ดังนั้น การสังเคราะห์ให้ได้ภาวะผู้นำแนวใหม่ที่ใช้ชื่อเรียกว่า “ภาวะผู้นำแบบดุลยภาพ” ตามบทความวิชาการนี้ จึงถือเป็นส่วนหนึ่ง ของความพยายามที่ผู้เขียนได้ทำการสังเคราะห์จาก ทฤษฎีภาวะผู้นำพื้นฐาน 5 รูปแบบ และนำมาทำการสังเคราะห์จุดเด่นทางความคิดและคุณลักษณะต่างๆที่มีคุณลักษณะอันสอดคล้องกับยุคโลกาภิวัฒน์ และโลกในศตวรรษที่ 21 ที่ปรากฏอย่างโดดเด่นและควรจรรโลงไว้อย่างเหมาะสม ดังนี้
๒.๑       ภาวะผู้นำแบบแบบผนึกกำลัง (Synergistic Leadership)
ภาวะผู้นำแบบแบบผนึกกำลัง เป็นทฤษฎีสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่ให้กรอบแนวคิดในการตรวจสอบและสะท้อนเสียงของสตรีในภาวะผู้นำทางการศึกษา ในองค์ประกอบสำคัญ 4 องค์ประกอบที่จะต้องสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้ง 4 องค์ประกอบ คือ 1) โครงสร้างขององค์กร ที่ส่งเสริมต่อการบำรุงรักษาและการดูแลเอาใจใส่ การให้รางวัล การพัฒนาวิชาชีพ และการให้คุณค่ากับความเป็นสมาชิกขององค์กร 2) พฤติกรรมภาวะผู้นำ มีลักษณะเป็นพฤติกรรมโดยรวม (inclusive) มุ่งการบำรุงรักษา (nurturing) และมุ่งงาน (task-oriented) 3) พลังขับภายนอกที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ การกระทำ และความคาดหวังของผู้ ต้องใช้แนวคิดแบบองค์รวมเพื่อบูรณการพลังขับต่างๆ เข้าด้วยกัน 4) ความเชื่อ ทัศนคติและที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้นำ มีองค์ประกอบสำคัญ คือ การให้คุณค่า (valuing) จริยธรรม (ethics) การยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม (integrity) ความเคารพ (respect) ความต้องการก้าวหน้าในอาชีพ (professional growth) การสร้างความไว้วางใจ (building trust) และการสนับสนุนคนงาน (support among employees)
๒.๒       ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม(Ethical Leadership)  
ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมมีสององค์ประกอบที่สำคัญ คือ (หนึ่ง) มีการปฏิบัติและการตัดสินใจอย่างมีจริยธรรม และ (สอง) มีการนำอย่างมีจริยธรรม ทั้งในส่วนที่มองเห็นได้ และ มองเห็นไม่ได้ เช่น มีค่านิยมหรือหลักการที่ยึดถือจริยธรรมเป็นหลัก ซึ่งลักษณะทั้งสองนี้ ต้องมีอยู่อย่างเป็นปกติวิสัยตลอดเวลาเพื่อเป็นต้นแบบ และ เพื่อสร้างความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือและความเคารพต่อตัวผู้นำเองและองค์กร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มีเพื่อทำให้เกิด ความร่วมมือร่วมใจ เพื่อสร้างบรรยากาศองค์กรที่ดี เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความมีคุณธรรม และเพื่อความเคารพในตนเอง (วิโรจน์ สารรัตนะ, 2557)
๒.๓       ภาวะผู้นำดิจิตอล(Digital Leadership)
เนื่องจากสังคมในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นสังคมความรู้ สังคมสารสนเทศ และสังคมเครือข่าย จึงทำให้ผู้นำในยุคนี้และยุคหน้า จำเป็นต้องมีคุณลักษณะพิเศษบางประการ คือ ทัศนคติใหม่ ทักษะใหม่ และความรู้ใหม่ในข้อจำกัดและโอกาสของ ICT และ การใช้งานอย่างมีประสิทธิผลโดยเฉพาะใน 3Cs คือ การใช้คอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และเนื้อหารวมทั้งมัลติมีเดีย อันเป็นคุณลักษณะที่ควรต้องมี เพิ่มเติมจากคุณสมบัติที่ดีที่มีอยู่แบบดั้งเดิม เช่นความเห็นอกเห็นใจ ความศรัทธา ความผูกพัน และอื่นๆ นอกจากนั้นแล้ว ลักษณะส่วนบุคคลสำหรับผู้นำดิจิตอล ยังประกอบด้วย ความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับตัว ความอยากรู้อยากเห็นทางปัญญา และความกระหายใคร่รู้ต่อความรู้ใหม่ ซึ่งต้องเข้าใจว่า ภาวะผู้นำดิจิตอลนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คงที่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (วิโรจน์ สารรัตนะ, 2557)
๒.๔       ภาวะผู้นำยอดเยี่ยม (Transcendental Leadership)
(วิโรจน์ สารรัตนะ, 2557) ทัศนะหนึ่งที่กล่าวถึง ภาวะผู้นำยอดเยี่ยม (Transcendental Leadership)ภาวะผู้นำยอดเยี่ยมสำหรับศตวรรษที่ 21โดย Dariush (2010) ได้กล่าวไว้ว่า หากพิจารณาถึงความปลี่ยนแปลงในทฤษฎีภาวะผู้นำจากอดีต คือ ทฤษฎีมหาบุรุษ (Great Man Theory) สู่ภาวะผู้นำเชิงคุณลักษณะ เชิงพฤติกรรม เชิงมีส่วนร่วม ตามสถานการณ์ แบบใฝ่บริการ แบบแลกปลี่ยน และแบบการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นพัฒนาการทางทฤษฎีที่ดีขึ้น เขาเห็นว่า ภาวะผู้นำยอดเยี่ยม อันเป็นภาวะผู้นำพึงประสงค์และเป็นความหวังของผู้คนระดับโลกมากขึ้นนั้น หมายถึงภาวะผู้นำที่มีความสามารถ ดังนี้ (1) อยู่เหนืออัตตาและความปรารถนาของตัวเอง (2) ช่วยให้ผู้ตามทำในสิ่งดังกล่าวและมุ่งตอบสนองจุดมุ่งหมายที่ดีขึ้น (3)  ช่วยให้ผู้คนผูกพันกันอย่างเป็นมนุษย์ และ (4) มีเส้นทางร่วมและชะตากรรมร่วม Dariush ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในอดีต ต่างมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ต่างแสดงความกล้าหาญทางศึลธรรมเพื่อยืนหยัดในความจริงและความยุติธรรม ยอมทุกข์ทรมานหรือยอมตาย เพื่อความเชื่อและค่านิยมของตนเอง ในปัจจุบัน เราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการมีทัศนะระดับโลก จึงเป็นช่วงเวลาของภาวะผู้นำยอดเยี่ยมที่มีการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆดังนี้
(1)                    เปลี่ยนจากการยึดมั่นในตนเอง เป็น มีจิตสำนึกในตนเอง
(2)                    เปลี่ยนจากการพูด เป็น การกระทำ
(3)                    เปลี่ยนจากความเป็นอิสระจากกัน เป็น การพึ่งพาอาศัยกัน
(4)                    เปลี่ยนจากรายบุคคล เป็น หมู่คณะ
(5)                    เปลี่ยนจากประเทศที่แยกกัน เป็น ชุมชนโลกที่บูรณาการกัน
สามารถกล่าวได้ว่าภาวะผู้นำยอดเยี่ยม ให้กรอบความคิดเชิงปฏิวัติ ในการมองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในองค์กรใหม่ เป็น ความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีความแตกต่างกันมากขึ้น (More diverse people) ในกระบวนการกำกับดูแลร่วมกันที่แท้จริง และเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในกระบวนทัศน์จากเก่าสู่ใหม่ ทำให้ในปัจจุบันค่อยๆ คืบไปสู่ภาวะผู้นำยอดเยี่ยมที่มีลักษณะสำคัญกันมากขึ้น ดังนี้
(1)                                รับฟังการสะท้อนผล (reflective)
(2)                                ยึดค่านิยมเป็นศูนย์กลาง (value centered)
(3)                                มีทัศนะระดับโลก (global in perspective)
(4)                                อำนวยความสะดวกต่อสุนทรีนสนทนา (dialogue)
๒.๖         ภาวะผู้นำแบบสุนทรียสนทนา (Dialogic Leadership)
Isaacs (1999) เป็นผู้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำแบบสุนทรียสนทนา กล่าวถึงข้อปฏิบัติ 4 ประการ สำหรับการเป็นผู้นำแบบสุนทรียสนทนา ไว้ว่า (1) ฟังคนอื่น (Listening) (2) เตารพความเห็นคนอื่น (Respecting) (3) เปิดใจกว้าง (Suspending) ทั้งไม่ระงับ หรือ ไม่สนับสนุนความคิดด้วยความเชื่อมั่นฝ่ายเดียว (4) แสดงความคิดเห็น (Voicing) ภายหลัง David Bohm ได้นำปรากฏการณ์ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวมายกระดับการอธิบายด้วยกฎเกณฑ์ และ ทฤษฎีทางควอนตัมฟิสิกส์ เพื่อนำไปใช้ในสังคมตะวันตกปรากฎว่าได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ถูกนำไปใช้ในการเรียนการสอนเพื่อดึงศักยภาพผู้เรียนให้เป็นที่ปรากฎ สามารถสร้าง ญาณวิทยา (intuition) ใหม่ๆขึ้นมากมาย องค์กรที่นำไปใช้ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างชัดเจน คนในองค์กร มีความรักกันและเข้าใจกันมากขึ้น ในขณะเดียวกัน คนในองค์กรก็มีการค้นพบศักยภาพของตนเองและนำไปใช้ประโยชนืภายในองค์กรได้มากกว่าแต่ก่อน (วิโรจน์ สารรัตนะ, 2557)
David Bohm หันมาสนใจกับวิธีคิดแบบตะวันออกอย่างจริงจัง จนช่วง 10 ปีสุดท้ายของชีวิตสามารถนำเอาศาสตร์ทางด้านควอนตัมฟิสิกส์สมานเข้ากับมนุษยศาสตร์ได้อย่างแนบแน่นจนแทบเป็นเรื่องเดียวกัน David Holm เริ่มมองเห็นว่า การที่มนุษย์ถูกแบ่งแยกออกจากกัน โดยมิติต่างๆ เช่น ศาสนา วัฒนธรรม ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และมิติทางเพศนั้น ล้วนเป็นผลมาจาก การทำงานของ ความคิด (Thought) ทั้งสิ้นความคิด ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกต และเป็น ผู้กำหนดความหมายและการดำรงอยู่ของสิ่งที่ถูกสังเกต ความคิด จึงเป็นตัวการ แบ่งแยก ผู้สังเกต จาก สิ่งที่ถูกสังเกต และเป็นการเริ่มต้นของการแบ่งแยกระหว่าง มนุษย์ กับ ธรรมชาติ ออกจากกัน ในขณะเดียวกัน ความคิด ก็เป็นตัวสร้างความรู้และตรรกะ ชุดต่างๆ เพื่อนำสิ่งที่ถูกสังเกต เชื่อมโยงเข้าหากันใหม่ เพื่อรับใช้ความต้องการอันไม่สิ้นสุดของผู้สังเกต โลกทั้งใบจึงเต็มไปด้วย ความแตกต่างอันสับสนวุ่นวายและความขัดแย้งที่ไม่มีทางออก เนื่องจากการปิดกั้นของชุดตรรกะความรู้และ มายาคติแห่งการแบ่งแยกแตกต่างที่ผู้สังเกตสรางขึ้น ทำให้ไม่สามารถกลับมาพูดคุยแบบมนุษย์สัมผัสมนุษย์เพื่อถ่ายเทสภาพการดำรงอยู่สู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ดังนั้น เขาจึงประกาศความเชื่อว่า เพื่อแก้ปัญหาที่มนุษย์เผชิญอยู่นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องสลัดความคิด ความรู้เดิมทิ้งไป และร่วมกันแสวงหาความคิดใหม่จากธรรมชาติ ซึ่งกระบวนการดังกล่าว David Bohm เรียกว่า การสนทนา  (Dialogue) โดยที่มีเงื่อนไขสำคัญของการสนทนา เป็นกฎกติกาอยู่ 3 ประการ คือ
(1)       การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) หมายถึง การฟังโดยไม่นำฐานคติ (presupposition) เดิมมาเป็นกรอบอ้างอิงในการตัดสินเสียงที่ได้ยินได้ฟังจากผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำยากที่สุด จึงมีข้อแนะนำในการปฏิบัติไว้ 3 ประการคือ ให้ฟังเสียงของตนเอง (Self-reflection) นั่นคือ ฟังเสียงหรือความคิดหรือคำพูดที่มีอยู่ในใจ (inner call) ที่ยังไม่ได้พูดออกมา ก่อนที่จะทำการพูดหรือโต้ตอบอะไรออกไป การฟังเสียงตนเองให้ดีๆ จะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้รู้จักและเข้าใจต้นตอความคิดได้ดียิ่งขึ้น ประการที่สองคือ ชื่นชมกับเสียงของความเงียบ (appreciation of silence) ในระหว่างความเงียบของวงสนทนา อาจมีเสียงธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเรากำหนดความรู้สึกให้ชื่นชมกับเสียงที่ได้ยิน เราจะสามารถเรียนรู้อะไรมากขึ้น เพราะไม่มีการปิดกั้นหรือตัดสินสียงที่ได้ยินล่วงหน้า และประการสุดท้ายคือ เคารพเสียงของคนอื่น (respecting the participants’ voice) ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้ ผู้ที่พูดเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นและเกิดความไว้วางใจมากขึ้น
(2)        ความไว้วางใจ มีความรู้สึกเป็นอิสระ และผ่อนคลาย (Trust, Free and relaxing) อันเป็นผลมาจากวัตถุประสงค์เบื้องต้นของวงสนทนาแบบ Dialogue นั้นคือการมาฟังและเรียนรู้จากคนอื่น
(3)        เคารพในความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ (equality) วงสนทนาคือชุมชนของผู้มี “ศีลเสมอกัน” หรือมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎกติกาที่ตกลงดกันไว้ไม่มีการแยกเขาแยกเรา จะต้องปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ลงทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อให้ความคิด ความรู้สึกที่มาจากความเป็นปัจเจกบุคคล สามารถไหลถึงกันได้โดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม David Bohm ไม่คิดว่า Dialogue คือคำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง แต่เขาคิดว่า มันเป็นจุดเริ่มต้นของ สัมมาทิฐิ การสนทนาในลักษณะนี้ จึงควรกระทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ คนในวงสนทนาจะเป็นกระจกเงาให้กันและกัน อย่างปราศจากอคติ เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคนเรียนรู้ตัวเองและแก้ไขปรับปรุงตนเองให้สามารถทำงานร่วมกันและอยู่ร่วมกันกับคนอื่นได้อย่างมีความสุขสามารถแก้ไขปัญหาที่ยากๆที่ไม่สามารถจัดการด้วยวิธีการธรรมดาได้
๒.๗        นานาทัศนะภาวะผู้นำร่วมสมัย
       คุณก่อศักดิ์ ชัยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจม ซีพีออลล์ ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้นำ ไว้ว่า คุณสมบัติ 5 ประการที่ควรมีในผู้บริหาร ซึ่งสะท้อนไปยังตัวตนและความสำเร็จของผู้บริหารบริษัทใหญ่ระดับโลกได้ในระดับหนึ่ง คือ (1) การปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องในตัวผู้นำเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จค่านิยมด้านบวก ในการพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าต่อไปได้ ความซื่อสัตย์ ความมีคุณธรรมและจริยธรรม การรู้จักแยกแยะถูกผิด การแบ่งงานกันรับผิดชอบและผนึกรวมกับความรักที่มีต่อสังคมเป็นพลังขับเคลื่อนให้สังคมพัฒนาในทางที่ดีขึ้น (2) ผู้นำต้องคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองเป็นพร้อมๆกับการบ่มนิสัยใฝ่หาความรู้ ซึ่งเปรียบเสมือนสองด้านของเหรียญเดียวกันการ”คิดไม่เป็น” แม้มีองค์ความรู้อื่นๆ ประกอบในการตัดสินใจก็ไร้ผล ในขณะเดียวกันหากขาดนิสัยใฝ่รู้แม้จะขบคิดปัญหาเท่าใด ก็ไม่สามารถมีความคิดที่หลุดพ้นจากกรอบเดิมๆ ซ้ำร้ายยังทำให้มีมุมมองที่คับแคบอีกด้วย (3) ต้องมีความสามารถในการสื่อสารที่ดี ใช้ทักษะ การพูดและการเขียนเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องเดียวกัน ในขณะเดียวกัน ไม่ควรละเลย “การฟัง” เพราะหากความสามารถในการฟังไม่ดีพอ การสื่อสารก็อาจมีปัญหาได้เช่นกัน (4) มีความคิดระดับสากล และ (5) ต้องมีความรู้รอบด้านนอกเหนือวิชาชีพ เพื่อที่จะสามารถมองโลกและสังคมได้ครบทุกแง่มุม
เพิ่มเติมจากที่กล่าวมาแล้ว คุณก่อศักดิ์ ยังได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับ “ภาวะผู้นำตามวิถีตะวันออก” 7 ประการซึ่งสามารถร้อยเรียงให้จดจำง่ายๆ ไว้ว่า “สำนึกต่อหน้าที่ มีสัจจะกตัญญู - รู้จักอ่อนน้อม ยอมให้อภัย -ไม่ช่วงชิงเป็นที่หนึ่ง - คำนึงถึงความกลมกลืน”
๓.  “ภาวะผู้นำแบบดุลยภาพ”
เมื่อพิจารณาจากคุณลักษณะที่โดดเด่น และเหมาะสมของภาวะผู้นำทั้ง 5 แบบข้างต้น ผนวกเข้ากับ คุณลักษณะพึงประสงค์อื่น ตามที่ได้มีการศึกษา และแสดงไว้ในนานาทัศนะ สามารถสังเคราะห์ออกมาเป็น คุณลักษณะของ “ภาวะผู้นำแบบดุลยภาพ” ได้โดยสรุปดังนี้
(1)       ความรู้ (Knowledge & Knowhow) : ผู้นำต้องมีความรู้ พร้อมๆกับการบ่มนิสัยใฝ่หาความรู้ต้องมีความรู้รอบด้านนอกเหนือวิชาชีพ เพื่อที่จะสามารถมองโลกและสังคมได้ครบทุกแง่มุม
(2)       สติ และ ปัญญา : ผู้นำต้องมีสติ มีความตื่นรู้ รู้เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และ รู้ตน มีปัญญา และไหวพริบ มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ในทางที่ถูกที่ควรและกิอประโยชน์
(3)       ความคิด (Critical Thinking): ผู้นำต้องมีความคิดระดับสากล มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความสามารถในการคาดการ การจำลองความคิด (Anticipation, imagination, and simulation) มีความคิดริเริ่ม มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองเป็น ความคิดเริ่มนี้จะมีขึ้นได้  ผู้นำจะต้องมีความกระตือรือร้น  มีใจจดจ่อกับงาน  มีความเอาใจใส่ต่องานในหน้าที่  และมีพลังใจที่ต้องการความสำเร็จ
(4)       น้ำใจ (Empathy) : ผู้นำต้องเป็นผู้มีน้ำใจ เอื้อเฝื้อ มีใจเป็นกลาง และเปิดกว้าง ปราศจากอคติ หรือที่เรียกว่า มี “สัมมาทิฐิ” มีความรู้ประมาณ และวางใจ วางตนเป็นกลาง โดยนำมาปฏิบัติจริงกับชีวิตของตนเอง เดินทางสายกลางและยึดหลักการ “อยู่อย่างพอเพียงและพอดี”
(5)       ทักษะสื่อสาร(Communications) : ผู้นำต้องมีความสามารถในการสื่อสารที่ดี ใช้ทักษะ การพูดและการเขียนเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องเดียวกัน ไม่ควรละเลย “การฟัง” และควรมี “ทักษะการฟัง” ที่ดีเยี่ยม
(6)       คุณธรรม (Ethics) : ผู้นำต้องมีค่านิยมที่ดีและถูกต้องสำหรับสังคมส่วนรวม มีคุณธรรมและจริยธรรม มีความซื่อสัตย์   มีการรู้จักแยกแยะถูกผิด มีหิริโอตัปปะ โดยมีหลักธรรมเป็นองค์ประกอบเป็นพื้นฐานและกรอบแนวทางเพื่อส่งเสริมเกื้อหนุนและประคับประคอง และใช้หลักธรรมในการบริหารจัดการ มีความยุติธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต  ผู้นำที่ดีจะต้องอาศัยหลักและเหตุผล   และความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่นเป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยสั่งการ  ปฏิบัติงานด้วยจิตที่ปราศจากอคติ   ปราศจากความลำเอีย
(7)       ผู้นำต้องมีทักษะของการจัดลำดับความสำคัญ และการรักษาดุลยภาพดุลยภาพ (Balance & Equilibrium): ทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคมส่วนรวม ได้เป็นอย่างดี
(8)       เที่ยงธรรมและมนุษยธรรม : ผู้นำต้องอยู่เหนืออัตตาและความปรารถนาของตัวเอง มีความสามารถในการช่วยให้ผู้คนผูกพันกันอย่างเป็นมนุษย์ และ มีเส้นทางร่วมและชะตากรรมร่วมกันได้อย่างสันติสุข
(9)       มนุษยสัมพันธ์และสร้างคน (Creation) : ผู้นำต้องมีความสามารถในการสร้างคน มีความสามารถในการจูงใจ และให้กำลังใจแก่ผู้อื่น (ซึ่งเป็นผู้ตาม) ให้ความช่วยเหลือให้ผู้ตามทำในสิ่งที่เป็นเป้าหมายร่วมและมุ่งตอบสนองจุดมุ่งหมายที่ดีขึ้น
(10)กล้าหาญเด็ดเดี่ยว (Courage) : ผู้นำที่ดีต้องมีความกล้าหาญและความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ หลังจากที่คิดอย่างรอบคอบแล้ว  ต้องมีความกล้าหาญเด็ดขาด และต้องมีลักษณะ “กล้าได้  กล้าเสียไม่เกรงกลัวต่ออันตราย  ความยากลำบาก หรือความเจ็บปวดใด ๆ ทั้งทางกาย  วาจา และใจ  ต้องมีความกล้าหาญสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
(11)พันธะสัญญา (Commitment) และความรับผิดชอบ (Accountability & Responsibility): ผู้นำต้องมีสำนึกตระหนักของความรับผิดชอบ ในสิ่งที่ตนตัดสินใจลงไป หรือ กระทำไป ทั้งต่อส่วนตัว และส่วนรวม
๓. บทสรุป
                จากการศึกษาข้างต้น สรุปได้ว่า ภาวะผู้นําคือปัจจัยที่สําคัญประการหนึ่งของการบริหารจัดการและการพัฒนาองค์การของโลกยุคปัจจุบันและในแวดวงวิชาการด้านการบริหารจัดการได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อยกระดับพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นําและการพัฒนาภาวะผู้นํามาอย่างเป็นพลวัตต่อเนื่องและ  คุณสมบัติของการเป็น “ผู้นำ” ที่สำคัญนั้นคือ ต้องใฝ่รู้และปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมของยุคศตวรรษที่ 21 ที่ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีทั้งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง (Continuous Change) และ (2) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน (Discontinuous Change) จึงเป็นความจำเป็นที่องค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนให้พร้อมที่จะ ยืดหยุ่นและกลายเป็นองค์กรที่เข้มแข็งพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้น ผู้นำสำหรับศตวรรษที่ 21 จึงควรมี (1) มีคุณภาพในองค์ความรู้ มีความรอบรู้ มีความใจกว้าง มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีความสามารถเป็นเลิศในการจัดสมดุล ของปัจจัยต่างๆ ทั้งที่เป็นปัจจัยเสริมและข้อจำกัด ซึ่งเป็นคุณภาพของความสามารถและคุณลักษณะส่วนบุคคลในการบริหารจัดการช่วงเวลาสำหรับการตัดสินใจอย่างรอบคอบ การจัดการสถานการณ์ให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน การพัฒนาบุคลากรจากศักยภาพที่แท้จริง ความสามารถในการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ การให้ความสนใจต่อรายละเอียด และการจัดการความสามารถหลัก (2) ภาวะผู้นำที่มีศักยภาพเป็นเลิศ ที่มีความสามารถ เป็นผู้นำตนเองและผู้อื่น รวมทั้งการบ่มเพาะภาวะผู้นำที่มีศักยภาพเป็นเลิศในทุกๆ ระดับขององค์กร (3) ภาวะผู้นำที่เกิดจากการปฏิบัติงานภายใต้สภาพเสมือนจริง
หากยึดหลักของ ภาวะผู้นำแบบดุยภาพ เป็นแนวทางปฏิบัตินั้น ผู้เขียนคาดว่าผลที่จะได้รับจากการประยุกต์ใช้คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี สำหรับโลกในยุคสมัยนี้และในอนาคตต่อไป จะเห็นได้ว่าหากประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ยึดถือปรัชญานี้เป็นแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตน มีสำนึกในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ สังคมโลกจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ผสมผสานอย่างสมดุลอย่างยั่งยืนต่อไป



เอกสารอ้างอิง
1.       พระครูปลัดธรรมจริยวัฒน์, ดร, ภาวะผู้นำ หลักธรรม และ กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์, 2558
2.       กวี วงศ์พุฒ, ภาวะผู้นำ โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.  กรุงเทพมหานคร, 2535
3.       นางสุภัชชา พันเลิศพาณิชย์ เจ้าหน้าที่มาตรฐานการศึกษา มจร.ห้องเรียนวัดพระแก้ว เชียงราย, บทความทางวิชาการ เรื่อง การพัฒนาภาวะผ้นําตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, ข้อมูลออนไลน์ https://www.gotoknow.org/posts/573158 สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2558
4.       สมบัติ กุสุมาวลี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, การสํารวจแนวคิดภาวะผู้นําในองค์กรระดับโลก ศึกษาจาก Harvard Business Review 2010-2012, การประชุมวิชาการระดับชาติในวันคล้ายวันสถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ประจําปี 2556
5.       รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเรืองสุข กรรมการบริหารและหัวหน้าหลักสูตรการบริหารงานบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Smart Leadership: กลยุทธ์การนำระดับกูรู, 2555
6.       นภวรรณ คณานุรักษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า, ภาวะผู้นำเพื่อองค์กรที่มีประสิทธิภาพ (Leadership for Efficiency Organization), วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปีที่ 29 ฉบับที่ 4 เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2552
7.       รศ. ดร. วิโจน์ สารรัตนะ, ภาวะผู้นำ: ทฤษฎีและนานาทัศนะร่วมสมัยปัจจุบัน กรุงเทพฯ ทิพยวิสุทธิ์, 2557
8.       ก่อศักดิ์ ชัยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บจม. ซีพี ออลล์, วิถี “ผู้นำ” สู่ความสำเร็จ, พฤศจิกายน 2554